ABOUT MMRI > ประวัติความเป็นมา


ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะที่ 5 (2525-2529) ได้มีการวางแผน การใช้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการผลิตและ การส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นให้ ประเทศเกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ทรัพยากรประเภทแร่และวัตถุดิบประเภทต่างๆ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้มีการจัดตั้งสถาบันเฉพาะ ทางด้านโลหะและวัสดุขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2529 สำหรับเป็น หน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนากรรมวิธีที่เหมาะสมในการแปรรูป แร่และวัตถุดิบอื่นๆให้เป็นวัสดุสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในลักษณะของโลหะ, เซรามิก,  พอลิเมอร์และวัสดุเส้นใยเพื่อเพิ่มพูนมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้สูงขึ้น

อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ และเป็นหัวใจของ อุตสาหกรรมการผลิตแขนงอื่นๆ อาทิเช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมก่อสร้าง, อุตสาหกรรมรถยนต์ และอื่นๆ เป็นต้น จากความสำคัญดังกล่าวทำให้ทางรัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณหลายพันล้านบาท ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาทั้งในแง่ให้เงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการสร้าง กำลังคนทางด้านนี้จำนวนมากมาย อันจะส่งเสริมให้การพัฒนาทางด้านโลหะและวัสดุ ของประเทศมีความก้าวหน้าต่อไป

สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการพัฒนาตัวเองมาโดยตลอด ปัจจุบันนับได้ว่าเป็นสถาบันที่มีความพร้อมที่สุดแห่งหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งในแง่ของอาคารสถานที่, อุปกรณ์, เครื่องมือวิจัยและบุคลากรมีอย่างเพียงพอ ใน การดำเนินงานวิจัย สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ และการบริการวิชาการได้อย่าง มี ประสิทธิภาพ นอกจากนี้สถาบันยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการให้คำปรึกษาและ ช่วยแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมในโรงงาน อีกทั้งให้คำแนะนำการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม ต่อการผลิตและการดัดแปลงที่เหมาะสมต่อการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆจากต่างประเทศ เข้ามาประยุกต์ใช้นับได้ว่าสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุมีบทบาทสำคัญในการวิจัยพัฒนา และส่งเสริมการผลิตวัสดุอุตสาหกรรมขึ้นภายในประเทศได้อย่างมากมาย