สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง "การใช้กากแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์สำหรับงานหล่อแบบจากอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นวัตถุดิบร่วมสำหรับวัสดุก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีจีโอพอลิเมอร์ฐานดินแดง" โดย ดร.นิธิวัชร์ นวอัครฐานันท์ นักวิจัยประจำสถาบันฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในเป้าหมายที่ 9: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม (Industry Innovation and Infrastructure)
โดยงานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้การใช้กากแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์สำหรับงานหล่อแบบจากอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นวัตถุดิบสำหรับวัสดุก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีจีโอพอลิเมอร์ โดยมุ่งเน้นที่วัสดุจีโอพอลิเมอร์ฐานดินแดงซึ่งมีความเป็นไปได้ในการใช้ทดแทนอิฐก่อสร้างดินเผา การใช้กากของเสียดังกล่าวให้เกิดประโยชน์โดยการใช้เป็นวัตถุดิบของวัสดุก่อสร้าง เพื่อทดแทนการฝังกลบ เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถลดปริมาณขยะของโลกได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นการผลิตอิฐที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอิฐก่อสร้างดินเผา โดยใช้เทคโนโลยีที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และยังเป็นการเพิ่มตัวเลือกผลิตภัณฑ์อิฐในท้องตลาด